เมษายน 27, 2024

ความเป็นมา

“คลินิกวิจัยพุทธศาสตร์พ่อขุนผาเมือง”

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยวิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง เพชรบูรณ์ ได้เปิดดำเนินการศึกษามาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลาถึง ๒๐ ปี ในปีการศึกษา ๒๕๖๔ มีการดำเนินการจัดการเรียนการสอน ซึ่งเป็นการให้บริการการศึกษาในระดับปริญญาตรี ๓ สาขาวิชา ประกอบด้วย
๑. สาขาวิชาศาสนาและปรัชญา
๒. สาขาวิชาพระพุทธศาสนา
๓. สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์

และจัดการเรียนการสอนในระดับประกาศนียบัตร จำนวน ๒ หลักสูตร คือ
๑. หลักสูตรประกาศนียบัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.)
๒. หลักสูตรประกาศนียบัตรพระพุทธศาสนา (ป.พศ.)

การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาแต่ละสถาบันนั้น ได้กำหนดพันธกิจหลักไว้หลายประการ ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยพันธกิจ ๕ ด้านได้แก่ การผลิตบัณฑิต การวิจัย การบริการวิชาการแก่สังคม การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และการบริหารจัดการ เพื่อให้กระบวนการจัดการศึกษาเป็นไปอย่างครอบคลุม และก่อให้เกิดประโยชน์แก่นิสิตนักศึกษา ชุมชน สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวม การวิจัยจึงเป็นหนึ่งในพันธกิจที่มหาวิทยาลัยจะต้องกำหนดให้ผู้บริหาร คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่ได้ร่วมแรงร่วมใจกันดำเนินการเพื่อให้เกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่นำมาสู่กระบวนการเรียนการสอนที่เรียกว่ากระบวนการบูรณาการวิชาการกับการวิจัย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง เพชรบูรณ์ เป็นหน่วยงาน ที่มุ่งส่งเสริมให้พันธกิจด้านการวิจัยเป็นไปอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ จึงได้เสนอโครงการจัดตั้งหน่วยงานคลินิกวิจัยพุทธศาสตร์พ่อขุนผาเมืองขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์ประสานงานการวิจัย และเป็นศูนย์ปฏิบัติงานที่ครบวงจร  ทั้งด้านการพัฒนางานวิจัย การฝึกอบรม และการให้บริการวิชาการกับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และท้องถิ่น รวมถึงเป็นศูนย์เชื่อมโยงเครือข่ายงานวิจัยกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

วัตถุประสงค์

  • เพื่อจัดตั้งหน่วยงานคลินิกวิจัยพุทธศาสตร์พ่อขุนผาเมือง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาลัยสงฆ์พ่อขุนผาเมือง เพชรบูรณ์
  • เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานวิจัย และให้บริการทางวิชาการ ในท้องถิ่นระดับจังหวัด และระดับชาติ
  • เพื่อเป็นศูนย์กลางประสานงานความร่วมมือ และเชื่อมโยงเครือข่าย นักวิชาการ นักวิจัยและผู้ปฏิบัติงานด้านงานวิจัย                    
  • เพื่อผลิตผลงานวิจัยทางด้านพุทธศาสตร์ และผลงานวิจัยทางด้านพุทธศาสตร์บูรณาการกับศาสตร์อื่น ๆ
  • เพื่อพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัย หลักพุทธธรรมเชิงวิชาการ จนเกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางพระพุทธศาสนา
  • เพื่อส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน และสร้างองค์ความรู้ใหม่